วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[PHP] ตัวดำเนินการทางคณิตศาสตร์

ตัวดำเนินการทางคณิตศาสตร์คือตัวดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณหาผลลัพธ์ต่างๆ ทางคณิตศาสตร์ เช่น บวก ลบ คูณ หาร

ตัวดำเนินการ สัญลักษณ์
บวก +
ลบ -
คูณ *
หาร /

การตั้งคำนวณก็คล้ายๆ กับที่เราเคยเรียนวิชาคณิตศาสตร์กันมา เพียงแต่ในการเขียนโปรแกรม ผลลัพธ์หรือค่าที่ได้จากการคำนวณจะอยู่ทางซ้ายของเครื่องหมาย = (equal) เสมอ

ตัวอย่างที่ 1
<?php
$a=4;
$b=6;
$c=$a+$b;
?>

จากตัวอย่างที่ 1 กำหนดค่าให้ตัวแปร a เท่ากับ 4 และตัวแปร b เท่ากับ 6 จากนั้นก็นำมาบวกกันโดยผลลัพธ์ที่ได้ให้อยู่ที่ตัวแปร c

ในกรณีที่มีการใช้ตัวดำเนินการมากกว่า 1 ตัว คือในการคำนวณอาจมีทั้งบวก ลบ คูณ หาร ในบรรทัดเดียว ซึ่งในภาษา PHP จะมีลำดับการประมวลผล โดยทำ คูณกับหาร ก่อนแล้วค่อยทำ บวกกับลบ ถ้าไม่รู้เกี่ยวกับลำดับของการคำนวณอาจจะทำให้คำนวณผลลัพธ์ผิดพลาดได้

ตัวอย่างที่ 2
<?php
$a=10-5*2;
?>

จากตัวอย่างที่ 2 ถ้าเอา 10 มาลบออก 5 เท่ากับ 5 และมาคูณกับ 2 ได้ผลลัพธ์เท่ากับ 10 ถือว่าผิดเลย เพราะผลลัพธ์จากการคำนวณจริงๆ คือ 5 คูณกับ 2 ก่อนแล้วจึงลบกับสิบ ผลลัพธ์ที่ถูกต้องคือ 0 แต่ถ้าถามว่าต้องการให้มันบวกกันก่อนได้หรือไม่ คำตอบคือได้ครับ โดยใส่วงเล็บเข้าไปซึ่งโปรแกรมจะทำการคำนวณในวงเล็บก่อน

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[PHP] ตัวแปร Part 1

การประกาศตัวแปรในภาษา PHP จะใช้เครื่องหมาย $ ขึ้นต้นเสมอ 
ตัวแปรสร้างมาทำไม? ตัวแปรสร้างมาเพื่อใช้เก็บค่าของข้อมูลต่างๆ ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้

การตั้งชื่อให้ตัวแปรควรจะมีความสอดคล้องกับการนำตัวแปรไปใช้ และเพื่อไม่ให้สับสนเวลาที่ต้องแก้ไขโค้ด ชื่อตัวแปรจะต้องขึ้นต้นด้วยตัวอักษร a-z หรือ A-Z หรือ เครื่องหมาย _ (Underscore)  ภาษา PHP ค่อนข้างจะเข้มงวดเรื่องชื่อตัวแปร คือ ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่กับพิมพ์เล็กจะมองเป็นตัวแปรคนละตัวกัน

ตัวแปรไม่จำเป็นต้องระบุชนิดของตัวแปร เนื่องจาก PHP สามารถที่จะกำหนดให้เองว่าตัวแปรนั้นๆ ควรจะเป็นตัวแปรชนิดใด เช่น

ตัวอย่างที่ 1
<?php
$no=50;
?>

จากตัวอย่างที่ 1 สร้างตัวแปรชื่อ no กำหนดค่าให้เท่ากับ 50 ซึ่งตัวแปรนี้ PHP จะกำหนดชนิดเป็นตัวเลข และสามารถนำไปใช้คำนวณได้

ตัวอย่างที่ 2
<?php
$name="Green";
?>

จากตัวอย่างที่ 2 สร้างตัวแปรชื่อ name กำหนดค่าให้เป็น Green ซึ่งตัวแปรนี้ PHP จะกำหนดชนิดให้เป็นตัวอักษร

จริงๆ แล้วชนิดของตัวแปรจะมีประมาณ 8 ชนิด ได้แก่ Boolean Integer Float String Array Object Resource NULL โดยที่เขียนกันบ่อยๆ ก็จะมี 2 แบบตามตัวอย่าง คือ ถ้าต้องการจะสร้างตัวแปรสำหรับเก็บค่าของตัวอักษรให้ใช้เครื่องหมาย " (Double Quote) ครอบค่าของตัวแปร หรือ ใช้เครื่องหมาย ' (Single Quote) แต่ถ้าต้องการเก็บค่าของตัวเลขไม่ต้องใช้เครื่องหมายอะไรครอบ

[PHP] ตัวแปร Part 2

สำหรับ Part 2 จะขอพูดถึงการเปลี่ยนแปลงค่าของตัวแปร หรือการโยนค่าของตัวแปร สังเกตุว่าการประกาศตัวแปรขึ้นมา ชื่อของตัวแปรจะต้องอยู่ซ้ายมือของเครื่องหมาย = (equal) และค่าที่จะกำหนดให้ตัวแปรจะต้องอยู่ขวามือของเครื่องหมาย = (equal) เสมอ เพราะในภาษา PHP หากมีเครื่องหมาย = ค่าที่อยู่ทางขวาจะส่งไปยังค่าทางซ้ายเสมอ

ตัวอย่างที่ 1
<?php
$a=1;
$b=2;
?>

จากตัวอย่างที่ 1 ตัวแปร a จะมีค่าเป็น 1 และ ตัวแปร b จะมีค่าเป็น 2 ตัวอย่างนี้ง่ายๆ ครับ ลองดูตัวอย่างต่อไป

ตัวอย่างที่ 2
<?php
$a=1;
$b=2;
$a=b;
?>

จากตัวอย่างที่ 2 สุดท้ายตัวแปร a ไม่ได้มีค่าเท่ากับ 1 แต่มีค่าเท่ากับ 2 เพราะในบรรทัดสุดท้าย
$a=$b;
จำได้ไหมว่าค่าที่อยู่ทางขวาจะส่งไปยังค่าทางซ้ายเสมอ เพราะฉะนั้นค่าของ b คือ 2 จึงถูกโยนมาให้ตัวแปร a ด้วย

หลังจากที่อธิบายเรื่องการสร้างตัวแปรไปแล้วใน Part 1 จะเห็นว่าการสร้างตัวแปรเก็บค่าตัวอักษร จะใช้เครื่องหมาย " (Double Quote) หรือ เครื่องหมาย ' (Single Quote) ก็ได้ ซึ่งนอกจากเป็นการใช้ประกาศค่าตัวแปรชนิด String ยังใช้กับคำสั่ง echo ด้วย

ตัวอย่างที่ 2
<?php
$name1="Green";
$name2='Green';
?>

จากตัวอย่าง 2 จะได้ผลลัพธ์เหมือนกัน มันจะต่างกันตรงที่เครื่องหมาย " (Double Quote) กับ เครื่องหมาย ' (Single Quote) เช่นเดียวกันกับเวลาที่เราใช้คำสั่ง echo

ตัวอย่างที่ 3
<?php
echo "Green";
echo 'Green';
?>

จากตัวอย่าง 2 และ 3 ผลลัพธ์เหมือนกัน จุดที่ต่างกันคือเครื่องหมาย " (Double Quote) สามารถแทรกตัวแปรเข้าไปได้

ตัวอย่างที่ 4
<?php
$first_name="Jame";
$last_name="Green";
echo "$first_name $last_name";
?>

จากตัวอย่างที่ 4  ผลลัพธ์ที่จะแสดงผลออกมาคือ Jame Green สรุปก็คือถ้ามีตัวแปรอยู่ในเครื่องหมาย " (Double Quote) มันจะถูกแปลงออกมาเป็นค่าของตัวแปรที่กำหนดไว้



ตัวอย่างที่ 5
<?php
$first_name="Jame";
$last_name="Green";
echo '$first_name $last_name';
?>

จากตัวอย่างที่ 5 เปลี่ยนเครื่องหมายตรงคำสั่ง echo ใช้เครื่องหมาย ' (Single Quote) แทน ผลลัพธ์ที่ได้คือ $first_name $last_name จะเห็นว่ามันไม่ได้แสดงค่าของตัวแปรออกมา แต่มันแสดงชื่อของตัวแปรแทน สรุปคือถ้าเขียนแบบนี้มันจะไม่สนว่าเป็นตัวแปรหรือไม่ เขียนมาอย่างไรก็แสดงอย่างนั้นเลย

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[PHP] การแสดงผล

การแสดงผลของภาษา PHP นิยมเขียนโค้ดโดยใช้คำสั่ง echo และ print ซึ่งทั้ง 2 คำสั่ง จะเป็นการแสดงผลออกทางจอภาพเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ print จะเป็นการแสดงผลโดยมีการตรวจสอบข้อมูลก่อนการแสดงผล ทำให้การทำงานจะช้ากว่าคำสั่ง echo

รูปแบบคำสั่ง
echo ข้อความหรือตัวแปร;

หลังจากเขียนคำสั่ง echo เว้นวรรคและตามด้วยตัวแปรหรือข้อความ ในกรณีที่เป็นข้อความจำเป็นต้องอยู่ในเครื่องหมาย " (Double Quote) เสมอ แต่ถ้าต้องการแสดงผลตัวแปรอย่างเดียวอาจจะใส่เครื่องหมาย " (Double Quote) หรือไม่ใส่ก็ได้ และจบคำสั่งทุกครั้งอย่าลืมปิดด้วยเครื่องหมาย ; (Semicolon)

ตัวอย่างที่
<?php
echo "Welcome PHP";
?>

ผลลัพธ์
Welcome PHP


วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แนะนำเว็บเกี่ยวกับฟังก์ชั่น PHP

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาเว็บไซต์ด้วยภาษา PHP แล้วอยากรู้ว่า PHP มีฟังก์ชั่นอะไรบ้าง ทำงานอย่างไร สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ http://www.function.in.th เป็นเว็บภาษาไทย ซึ่งได้ทำการรวบรวมฟั่งก์ชั่นต่างๆ ที่จำเป็นในการเขียนคำสั่ง และไม่ได้มีแต่ภาษา PHP อย่างเดียว ยังมี html css javascript jsp และอื่นๆ ผมไม่ได้จะโฆษณาให้เขาแต่ประการใด เพียงแต่ผมเห็นว่าเป็นเว็บที่มีประโยชน์และผมเองก็ได้ใช้ประโยชน์จากเว็บนี้เช่นกัน

เทคโนโลยี AJAX

AJAX: Asynchronous JavaScript and XML เป็นกลุ่มของเทคนิคในการพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันเพื่อ ให้ความสามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ได้ดีขึ้น โดยการรับส่งข้อมูลในฉากหลัง ทำให้ทั้งหน้าไม่ต้องโหลดใหม่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งช่วยทำให้เพิ่มการตอบสนอง ความรวดเร็ว และการใช้งานโดยรวม
เอแจ็กซ์นั้นไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่เป็นเทคนิคที่ได้ใช้เทคโนโลยีหลายอย่างที่มีอยู่แล้วรวมกันดังต่อไปนี้
  • XHTML (หรือ HTML) และ CSS ใช้ในการแสดงผลลัพธ์และรูปแบบข้อมูล
  • ECMAScript เช่นจาวาสคริปต์ ในการเข้าถึง Document Object Model (DOM) เพื่อใช้ในการแสดงข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือโต้ตอบกับผู้ใช้
  • XMLHttpRequest ใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล asynchronously กับเว็บเซิร์ฟเวอร์
  • XML ใช้เป็นรูปแบบข้อมูลในการแลกเปลี่ยน ซึ่งรูปแบบอื่นก็สามารถใช้ได้เช่นกันไม่ว่าจะเป็น HTML, JSON, EBML, หรือ เพลนเท็กซ์

PHP คืออะไร

                   PHP เป็นภาษาสคริปต์แบบเซิร์ฟเวอร์ไซต์ (server-side scripting language) หมายถึง การประมวลผลจะเกิดบนเครื่องแม่ข่าย หรือเซิร์ฟเวอร์ (server) แล้วจึงสร้างผลลัพท์เป็นภาษา HTML ส่งให้กับเครื่องลูกข่าย หรือ ไคลเอ็นต์ (client) เพื่อแสดงผล ซึ่งลดภาระการส่งถ่ายข้อมูลจำนวนมากเพื่อมาประมวลผลบนเครื่องลูกข่าย การเขียนสามารถทำได้โดยเขียนโค้ด PHP แทรกลงไปในโค้ด HTML ด้วยการเปิดแท็ก <?php และปิดด้วยแท็ก ?> และทำการบันทึกเป็นไฟล์ที่มีนามสกุล .php

HTML คืออะไร

HTML หรือ HyperText Markup Language เป็นภาษา script ประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้ทำ Web page เป็นงานหลัก ในระบบ World Wide Web ในแรกเริ่ม วัตถุประสงค์หลักของ HTML ถูกเสนอโดยนาย ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) แห่งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยทางอนุภาคฟิสิกส์ของยุโรป (CERN) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ได้กำหนดไว้ว่า
·      เพื่อสร้างสื่อที่นักวิทยาศาสตร์สามารถจะเผยแพร่ผลงาน และใช้อ้างอิง ได้ตลอด 24 ช.ม.
· เพื่อสร้างภาษาคอมพิวเตอร์ที่รองรับภาษาท้องถิ่นที่ไม่ขึ้นกับระบบของเครื่องคอมพิวเตอร์ (Platform) หรือระบบเครือข่ายใดๆ
 
และด้วยวัตถุประสงค์ข้างต้น ภาษา HTML จึงถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในสังคมของนักวิทยาศาสตร์ และกำหนดให้เครื่องมือที่ใช้เขียน เป็นโปรแกรม text editor ทั่วๆ ไป

สำหรับภาษา HTML ในอินเตอร์เน็ต ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนทุกๆ ชาติบนโลก สามารถเข้าถึง เผยแพร่ และอ้างอิง วิทยาการความรู้ได้ ด้วยการเชื่อมโยงไปมาแบบ hyperlink อาจจะด้วยตัวอักษร และ/หรือ รูปภาพ โดยอาจเชื่อมโยงเฉพาะภายใน เอกสารนั้น หรือเชื่อมโยงข้ามไปยังเอกสารอื่นๆ ได้
ภาษา HTML มีต้นแบบมาจากภาษา SGML (Standard Generalized Markup Language) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ได้เฉพาะ กับประเภท ของคอมพิวเตอร์ และสิ่งที่ HTML รับมาจาก SGML คือ การประกาศค่า และ การกำหนดรูปแบบเอกสาร (Document Type Definition --DTD)

สิ่งที่ทำให้ ภาษา HTML ได้รับความนิยมอย่างมาก และรวดเร็ว ก็คือ HTML รวมถึง โปรโตคอล HTTP (HyperText Transfer Protocol) เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันได้ทั่วโลก โดยที่ตัวภาษาและโปรโตคอล ไม่ขึ้นกับ ระบบเครือข่าย และประเภทของคอมพิวเตอร์ (Platform) ซึ่งมีความหลากหลาย อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีและประเภทการใช้งาน เป็นผลให้เอกสารที่เขียนโดย HTML สามารถถ่ายโอน ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งในรูปแบบของ ตัวอักษร ภาพ และเสียง